การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์

มาทำความรู้จักกับทฤษฎีต่างๆ ที่ใช้เป็นแนวทางในการสอน

การสอน คือ กระบวนการในการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยหน้าที่สำคัญของผู้สอนคือช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนเกิดการเรียนรู้ หรือมีความรู้และทักษะตามที่หลักสูตรได้วางไว้ นักจิตวิทยาได้พยายามทำการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ และได้ค้นพบหลักการที่สามารถใช้ประยุกต์ เพื่อการเรียนรู้ในโรงเรียน จนเกิดเป็นทฤษฎีการเรียนรู้หลากหลายทฤษฎี แต่ในที่นี้จะขอนำเสนอทฤษฎีที่ใช้เป็นแนวทางในการสอนแบบต่างๆ 7 ทฤษฎี คือ

1. แนวการสอนแบบมอนเตสเซอรี่ (Montessori)
จะเน้นอุปกรณ์การสอนหรือสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้จากการสัมผัสด้วยมือ และเล่นอุปกรณ์ที่ครูเตรียมไว้ให้ตามความสนใจของตนเอง โดยหลักการสอนตามแนวมอนเตสซอรี่นั้น ครูต้องเป็นผู้จูงใจให้เด็กเกิดการค้นพบด้วยตนเองจากการสังเกต การเรียนรู้แต่ละเรื่องต้องสอดคล้องกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล เด็กมีอิสระในการเลือกอุปกรณ์และกิจกรรมการเรียนรู้จึงเน้นการสัมผัสสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และวิชาพื้นฐานพร้อมสาระหลักที่ต้องเรียนร่วม ได้แก่ การอ่าน การเขียน เลขคณิต สุขอนามัย และการเคลื่อนไหว

2. แนวการการสอนแบบโครงการ (The Project Approach)
เป็นการสอนที่ให้เด็ก ได้สืบค้นข้อมูลอย่างลึกในเรื่องที่เด็กสนใจ เพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองประกอบด้วยกระบวนการ 5 ข้อดังนี้

  •  การอภิปรายกลุ่ม จะช่วยให้เด็กแต่ละคนได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนสนใจกับเพื่อน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดแก่กัน
  •  การศึกษานอกสถานที่ ในระยะแรกครูอาจพาไปศึกษานอกห้องเรียน เพื่อเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบบริเวณโรงเรียนก่อน
  •  การนำเสนอประสบการณ์เดิม เป็นการทบทวนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เดิมในเรื่องที่ตนสนใจกับเพื่อนในชั้นเรียน
  •  การสืบค้นงานโครงการเปิดกว้างให้ใช้แหล่งค้นคว้าข้อมูลอย่างหลากหลายตามหัวเรื่องที่สนใจ โดยการสัมภาษณ์พ่อแม่ผู้ปกครองของตนเอง หรือ บุคคลในครอบครัว
  •  การจัดแสดง สามารถทำได้หลายรูปแบบ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ที่ได้จากการสืบค้นให้แก่เพื่อนในชั้นเรียน

การสอนแบบนี้ จะทำให้ครูและเด็กมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทำให้เด็กได้ฝึกการค้นคว้าทำให้มีประสบการณ์ใหม่ เพราะการค้นคว้าถือเป็นหัวใจของการสอนแบบโครงการ

3. แนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf)
เป็นการสอนที่เชื่อว่าการเรียนรู้ของคนเกิดจากความสมดุลของความคิด ความรู้สึก หากเด็กอยู่ในบรรยากาศที่รู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย เด็กจะถ่ายทอดความคิดและเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำกิจกรรมที่เขากระทำอยู่ แนวคิดนี้จึงเน้นการเรียนรู้ของเด็กให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยหัวใจของการสอนแบบวอลดอร์ฟ คือ การสร้างสมดุลของจิตมนุษย์ 3 ประการ ได้แก่ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำ โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก

การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์

4. แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ (Neo-Humanist Education)
เป็นการนำศาสตร์ตะวันออกกับความทันสมัยแบบตะวันตกมาผสานเข้าด้วยกัน เช่น มีการให้เด็กฝึกสมาธิ ทำโยคะในขณะเดียวกันก็ใช้เสียงเพลง และวิธีการสอนใหม่ๆ รวมเข้าไปด้วย โดยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในเด็กเล็กเพราะวัยอนุบาล เป็นวัยที่สอนได้ง่าย และยังเชื่ออีกว่า ความก่ง ความฉลาด เป็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน แต่มนุษย์ดึงมาใช้แค่ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และเชื่อว่าความเป็นคนสมบูรณ์นั้น เกิดจากศักยภาพที่สำคัญ 4 ด้าน คือ

  •  ร่างกาย (Physical) จะต้องแข็งแรง
  •  จิตใจ (Mental) ถ้ารูปร่างดีแข็งแรง แต่จิตใจไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็ไม่มีประโยชน์
  •  ความมีน้ำใจ (Spiritual) มีความรักให้กับคนอื่นในวงกว้าง ช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
  •  วิชาการ (Academic) ถ้าเราไม่มีวิชาการ ก็ไม่มีความรู้

5. แนวการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia)
แนวคิดนี้ มีความเชื่อว่าเด็กๆ สามารถสร้างทฤษฎี ความเชื่อ และความเข้าใจในสิ่งที่เด็กสนใจได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะสร้างทฤษฎี ความเข้าใจที่ต่างกันไป ครูปฐมวัยจึงไม่ควรรีบเร่งให้คําตอบที่ถูกต้องกับเด็ก เพราะการเรียนรู้ตามแนวคิดเรกจิโอไม่ใช่การเรียนจากแบบเรียนสําเร็จรูปที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการเรียนรู้จากการค้นหาข้อมูล และจากความรู้ที่จะตอบคําถามตามทฤษฎีความเชื่อของเด็ก คือ ค่อยๆ อธิบายและตอบคำถามที่เด็กสงสัย โดยพยายามโยงเข้าสู้ทฤษฎีหรือเนื้อหาที่ถูกต้องจนเด็กยอมรับในทฤษฎีนั้นในที่สุด

6. แนวการสอนแบบพหุปัญญา (Multiple Intelligence)                                                                                                                                        เป็นแนวคิดที่พัฒนาโดย ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ที่เชื่อว่ามนุษย์โดยปกตินั้นมีปัญญา ในตัวตนอยู่หลายด้านด้วยกัน ความสามารถแต่ละด้านนั้นจะมีความโดดเด่นในตัวของคนที่แตกต่างกันไป โดยปัจจุบันทฤษฎีพหุปัญญามีทั้งหมด 9 ด้าน ดังนี้

  •  ปัญญาด้านภาษา ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจ
  •  ปัญญาด้านตรรกะ และคณิตศาสตร์ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุผล การคาดการณ์และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์
  •  ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ มีการรับรู้ทางสายตาที่ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง
  •  ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ความสามารถในการควบคุมความรู้สึก ใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดี และไวทางประสาทสัมผัส
  •  ปัญญาด้านดนตรี เข้าถึงสุนทรียศาสตร์ทางดนตรีได้ง่าย ทั้งการได้ยิน การจดจำจังหวะ ท่วงทำนอง และโครงสร้างทางดนตรี
  •  ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ หรือการรู้ผู้อื่น ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น พูดจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่ต้องมีอยู่ในทุกคน
  •  ปัญญาด้านการรู้ตนเอง ความสามารถในการรู้จักตนเอง แล้วใช้ความรู้นี้ในการวางแผน และชี้นำชีวิตของตนเอง
  •  ปัญญาด้านธรรมชาติ ความสามารถในการสังเกตการเป็นอยู่ของธรรมชาติ สามารถกำหนดและจัดหมวดหมู่ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดี
  •  ปัญญาในการคิดใคร่ครวญ ชอบคิด ใคร่รู้ แล้วตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องความเป็นไปของชีวิต และเรื่องเหนือจริง

7. แนวคิดการสอนแบบไฮสโคป (High/Scope)
เป็นการเรียนรู้ให้เด็กริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการวางแผน ลงมือปฏิบัติและทบทวนผลงานของตนเองโดยมีครูเป็นผู้สังเกต ให้คำปรึกษา การที่เด็กได้ลงมือทำงานหรือกิจกรรมตามความสนใจของตัวเด็กเอง จะทำให้เด็กเกิดความสนุกในการเรียนรู้ที่จะทำกิจกรรม ทำให้เด็กได้ฝึกสมาธิทำให้เกิดปัญญา ฝึกความมีระเบียบ ผลที่จะเกิดตามมาถือเป็นความสำเร็จของเด็กๆ ในการได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมกับเพื่อนๆ และบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ visions-uk.com

 

Releated